เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ

‘โมฆบุรุษ ถึงอย่างนี้ เธอยังจะกล่าวกับเราผู้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือ
ธรรมดาของมนุษย์ว่า ‘พระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์อันเหนือธรรมดา
ของมนุษย์แก่ข้าพระองค์’ อยู่อีกหรือ เธอจงดูเถิดว่า ‘การพูดเช่นนี้เป็นความผิด
ของเธอมากเพียงไร’ ภัคควะ สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เมื่อถูกเราว่ากล่าวอย่างนี้
ได้หนีไปจากธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนผู้ควรเกิดในอบายกลับไปตกนรก ฉะนั้น

เรื่องนักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ

[11] ภัคควะ สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตกรุงเวสาลี
ขณะนั้น นักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะอยู่ที่วัชชีคาม เขตกรุงเวสาลี ถึงความเป็นผู้
เลิศด้วยลาภ1และถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ2 เขาถือสมาทานวัตรบท 7 ประการ คือ
1. เราพึงเป็นคนเปลือย ไม่นุ่งห่มผ้าตลอดชีวิต
2. เราพึงประพฤติพรหมจรรย์ ไม่เสพเมถุนตลอดชีวิต
3. เราพึงดำรงชีพด้วยสุราและเนื้อสัตว์ ไม่กินข้าวและขนมกุมมาส
(ขนมสด) ตลอดชีวิต
4. เราไม่พึงล่วงเกินอุเทนเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกแห่งกรุงเวสาลี
5. เราไม่พึงล่วงเกินโคตมกเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้แห่งกรุงเวสาลี
6. เราไม่พึงล่วงเกินสัตตัมพเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกแห่งกรุงเวสาลี
7. เราไม่พึงล่วงเกินพหุปุตตกเจดีย์ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือแห่งกรุงเวสาลี
ดังนี้
เพราะการสมาทานวัตรบทครบ 7 ประการนี้ เขาจึงถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ
และถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศที่วัชชีคาม

เชิงอรรถ :
1 ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภ หมายถึงได้รับการนับถือว่าเป็นสมณะชั้นดี จึงได้รับของถวายแต่ที่ดี ๆ (ที.ปา.
ฏีกา 11/7)
2 ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยยศ หมายถึงมีนักบวชเปลือยจำนวนมากห้อมล้อมและมีคฤหัสถ์ผู้มั่งคั่งมาเยี่ยมเยือน
อยู่เป็นประจำ (ที.ปา.ฏีกา 11/7)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :10 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [1. ปาฎิกสูตร]
เรื่องนักบวชเปลือยชื่อกฬารมัชฌกะ

[12] ภัคควะ ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร เข้าไปหานักบวชเปลือย
กฬารมัชฌกะถึงที่อยู่แล้วถามปัญหา เขาถูกถามปัญหาแล้วไม่สามารถตอบปัญหา
ของสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตรนั้นให้ถูกต้องได้ จึงแสดงความโกรธ ความขัดเคือง
และความไม่แช่มชื่นให้ปรากฏ ขณะนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ได้มีความคิด
ดังนี้ว่า ‘เราได้รุกรานสมณะผู้เป็นพระอรหันต์ชั้นดีแล้ว ขอความผิดนั้นอย่าได้มีเพื่อ
ไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เราตลอดกาลนานเลย’
[13] ครั้งนั้น สุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตรได้เข้าไปหาเราถึงที่อยู่ ไหว้เราแล้วนั่ง
ณ ที่สมควร
เราได้กล่าวกับสุนักขัตตะ ลิจฉวีบุตร ดังนี้ว่า ‘โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยัง
ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะศากยบุตรอยู่หรือ’
เขาได้กล่าวว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ไฉนพระผู้มีพระภาคจึงตรัสเรียก
ข้าพระองค์อย่างนี้ว่า โมฆบุรุษ แม้คนเช่นเธอ ก็ยังปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ
ศากยบุตรอยู่หรือ’
‘สุนักขัตตะ เธอเข้าไปหานักบวชเปลือยกฬารมัชฌกะแล้วถามปัญหา เขา
ถูกถามปัญหาแล้วไม่สามารถตอบปัญหาของเธอให้ถูกต้องได้ จึงแสดงความโกรธ
ความขัดเคือง และความไม่แช่มชื่นให้ปรากฏ เธอจึงได้มีความคิดดังนี้ว่า ‘เราได้
รุกรานสมณะผู้เป็นพระอรหันต์ชั้นดีแล้ว ขอความผิดนั้นอย่าได้มีเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อ
ทุกข์แก่เราตลอดกาลนานเลย’ มิใช่หรือ’
‘ใช่ พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคก็ยังหวงความเป็นพระอรหันต์อยู่หรือ’
‘โมฆบุรุษ เรามิได้หวงความเป็นพระอรหันต์เลย แต่เธอได้เกิดความเห็นชั่วนี้ขึ้น
เธอจงละความเห็นชั่วนั้นเสีย ความเห็นชั่วนั้นอย่าได้มีเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์แก่เธอ
ตลอดกาลนานเลย สุนักขัตตะ นักบวชเปลือยกฬารมัชฌกะที่เธอเข้าใจว่าเป็นสมณะ
ผู้เป็นพระอรหันต์ชั้นดีนั้น อีกไม่นาน เขาก็จะกลับนุ่งห่มผ้า มีภรรยา กินข้าวและ
ขนมกุมมาส ล่วงเกินเจดีย์ที่มีอยู่ในกรุงเวสาลีทั้งหมด กลายเป็นคนเสื่อมยศ
แล้วจักตายไป’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :11 }